Soft skill คือ อะไร?
Soft skill คือ ความสามารถด้านอารมณ์ การอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคม และการพัฒนาตนเอง ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับสติปัญญาแต่ละด้าน เช่น
- EQ (Emotional Quotient) คือ ความฉลาดทางอารมณ์ สามารถควบคุม หรือยับยั้งการแสดงออก ได้เหมาะสมกับสถานการณ์ เข้าใจความรู้สึกตนเอง และผู้อื่น
- AQ (Adversity Quotient) คือ ความฉลาดในการแก้ไขปัญหา สามารถเผชิญหน้ากับปัญหา พร้อมหาทางแก้ไข ควบคุมสถานการณ์ และปรับตัวเข้ากับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ดี
- CQ (Creativity Quotient) คือ ความฉลาดในการริเริ่มสร้างสรรค์ มีจิตนาการที่ยืดหยุ่น คอยปรับเปลี่ยนประยุกต์แนวคิด และชอบหาวิธีการใหม่ ๆ
- SQ (Social Quotient) คือ ความฉลาดทางสังคม สามารถที่จะปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่น เห็นแก่ส่วนรวม ไม่เปรียบเทียบ หรือมีความคิดที่กดคนอื่นให้ต่ำลง และเปิดใจยอมรับความแตกต่าง
Soft skill จึงจำเป็นในการดำเนินชีวิตประจำวันอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการเรียนรู้พัฒนาตนเอง การทำงานร่วมกันกับผู้อื่น และการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เป็นทักษะที่เข้ามาช่วยส่งเสริม และผลักดันความสำเร็จต่าง ๆ ในชีวิต
Soft Skill ที่ต้องมี มีอะไรบ้าง?
ทักษะการสื่อสาร
Communication: การฟัง พูด อ่าน และเขียน เป็นทักษะการสื่อสาร ไม่ได้จำกัดเฉพาะอาชีพการทำงาน ที่ต้องนำเสนอขาย หรืองานบริการเท่านั้น เราแทบจะใช้ทักษะเหล่านี้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะพูดคุยกับคนรอบข้าง ตอบข้อความ หรืออีเมล นำเสนอผลงาน และในที่ประชุม ซึ่งการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยลดข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น ทำให้การสื่อสารกระชับ และเข้าใจสิ่งที่สื่อเร็วขึ้น รวมถึงการมีวาทศิลป์ จะช่วยให้คู่สนทนา ประทับใจในตัวคุณมากขึ้นอีกด้วย
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการสื่อสารให้ดี ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากฝึกเรียงลำดับโครงสร้าง การเล่าเรื่อง
- เน้นใจความสำคัญ ของเรื่องที่อยากจะสื่อ
- ใช้ภาษา หรือคำพูดที่เข้าใจง่าย
- หากจำเป็นต้องต้องเน้นส่วนสำคัญ ลองใช้ท่าทางประกอบการอธิบาย ที่พอดี ไม่มากเกินไป
- เลือกใช้ระดับภาษา ที่เหมาะสมกับคู่สนทนา หรือผู้ฟัง
- ตั้งใจรับฟังอย่างเปิดใจ และไม่อคติ
- จับใจความสำคัญของผู้พูด
ทักษะการบริหารจัดการเวลา
Time Management: ทักษะการบริหารเวลา สำคัญอย่างมาก เพื่อเป้าหมายสำเร็จในระยะเวลาที่กำหนด การวางแผนบริการจัดการเวลาอย่างเหมาะสม จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ ทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียน หรือเรื่องส่วนตัว ต่างก็มีสิ่งที่ต้องสะสางให้สำเร็จลุล่วง หากวางแผนจนเป็นนิสัยได้ จะเห็นผลลัพธ์ว่าจริง ๆ แล้วเรายังมีเวลาว่างเหลือไปทำอย่างอื่นที่สนใจอีกเยอะ
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการบริหารจัดการที่ดี ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มวางแผน เรียงลำดับความสำคัญ หรือความเร่งด่วนของสิ่งที่ต้องทำ
- กำหนดระยะเวลาที่มี ความเป็นไปได้ที่จะทำให้สำเร็จ ในช่วงเวลาที่วางไว้
- กำหนดเป้าหมาย หรือ To-do list เป็นรายวัน รายอาทิตย์ รายเดือน หรือสิ่งที่ต้องทำให้สำเร็จในปีนี้
- หมั่นทำให้สำเร็จจนเป็นนิสัย มีความสม่ำเสมอ และต่อเนื่อง
ทักษะความยืดหยุ่นและปรับตัว
Flexibility and Adaptability: ทักษะความยืดหยุ่น และปรับตัว จะเป็นเหมือนตัวช่วยให้เราเข้ากับความแปลกใหม่ หรือเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ มีความคิด และการกระทำที่ยืดหยุ่นพร้อมปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ กฎเกณฑ์ หรือวิธีการทำงาน
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะความยืดหยุ่นและปรับตัว ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากสังเกตบรรยากาศรอบตัว ท่าทาง น้ำเสียงของคนรอบข้าง
- ปรับเปลี่ยนมุมมองความคิดที่จะแก้ไข
- เปิดใจเรียนรู้สิ่งใหม่ ไม่ปิดกั้นตัวเองที่จะเปลี่ยนแปลง
- เมื่อเผชิญปัญหา สามารถยอมรับความเสี่ยง และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น แล้วนำไปปรับใช้ในครั้งหน้า
ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น
Teamwork and Collaboration: ทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเป้าหมายร่วมกันให้ลุล่วง การทำงานเป็นทีม มีข้อดีมากมาย ทั้งได้แชร์ความคิดเห็น ได้ไอเดีย และมุมมองความคิดใหม่ ๆ และยังสามารถ จัดการงานนั้นได้อย่างรวดเร็ว
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากวางเป้าหมายที่ชัดเจนร่วมกัน
- ระดมความคิด หาวิธีการที่จะนำไปสู่เป้าหมายนั้น
- กล้าที่จะนำเสนอไอเดียของตนเอง
- หากความคิดของคนในทีมแตกต่าง ผิดจากเป้าหมาย หรือคิดว่าไม่น่าทำได้ ควรสอบถามหาเหตุผล และพูดคุยอย่างเปิดใจ
- ช่วยเหลือเกื้อกูล พัฒนา และแบ่งปันความรู้ หรือกระบวนการคิดร่วมกัน
- ลงมือทำส่วนที่ได้รับมอบหมายอย่างเต็มที่
ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และเชิงวิพากษ์
Analytic and Critical Thinking: ทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ และเชิงวิพากษ์ จะช่วยให้เราไตร่ตรอง และคิดอย่างรอบคอบมากขึ้น ไม่คล้อยตามก่อนที่จะรู้ข้อเท็จจริง เกิดความคิดสร้างสรรค์หาวิธีการใหม่ ๆ และกล้าที่จะไปสู่ผลลัพธ์ที่แตกต่าง
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์และเชิงวิพากษ์ ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มฝึกกระบวนการคิด จากการตั้งคำถาม ในสิ่งที่สงสัย หรืออยากรู้
- ค้นหาข้อมูลจากแหล่งข้อมูล ที่น่าเชื่อถือ
- สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้น เพื่อหา Key word สำคัญที่เกี่ยวข้อง
- จับประเด็น และเรียบเรียงข้อมูล
- นำมาตีความด้วยความเป็นเหตุและผล
- ประเมินทางเลือก และวิธีแก้ไขต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่คำตอบที่เหมาะสม และถูกต้องที่สุด
ทักษะการตัดสินใจ
Decision Making: การทำงานปัจจุบัน ยังจำเป็นต้องมีการตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพ และรวดเร็ว เช่น การจัดการโปรเจกต์ แจกจ่ายรายละเอียดงาน และมอบหมายให้คนในทีม หรือการทำงานที่ต้องแข่งขันกับเวลา บางทีมีความจำเป็นที่ต้องปรับเปลี่ยนเนื้อหา ก็สามารถตัดสินใจได้ทันท่วงที
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการตัดสินใจที่ดี ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มโดยกำหนดขอบเขตของการตัดสินใจ และใครจะมีส่วนได้ส่วนเสียกับการตัดสินใจครั้งนี้บ้าง
- ค้นหาทางเลือก หรือวิธีต่าง ๆ ที่มี และทำความเข้าใจ
- ประเมินความเสี่ยง และเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละทางเลือก
- ขจัดความลังเลที่มีออกไป ท้ายที่สุดเราจะสามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทักษะการความคิดสร้างสรรค์
Creativity: การทำงานก็จำเป็นต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่บางอาชีพเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วทักษะความคิดสร้างสรรค์ คือ การสร้างไอเดียใหม่ หรือวิธีการใหม่ที่ยังไม่เคยมีมาก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาสิ่งเดิมให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ แม้ไม่ได้มาด้วยพรสวรรค์ แต่สามารถฝึกฝน มาให้ได้ซึ่งพรแสวงจากความสนใจรอบตัว หรือความรู้เดิมนำมาประยุกต์ต่อยอดให้เกิดแนวทางใหม่ ๆ
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ ควรทำอย่างไรบ้าง?
- อาจเริ่มจาก ความอยากรู้อยากเห็น และทำความเข้าใจกับวิธีการเดิม
- หาไอเดียมาประยุกต์จากข้อสงสัยนั้น อาจมาจากกิจกรรมที่ชื่นชอบ เช่น การอ่านหนังสือ การฟังเพลง เล่นดนตรี หรืองานศิลปะ
- นำความรู้ใหม่ มาต่อยอดกับความรู้เดิมที่มีอยู่
- เปิดใจกับวิธีการใหม่ ที่นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีกว่า
- กล้าที่จะใช้วิธีการใหม่ที่คิดค้น หรือประยุกต์ขึ้นมาได้
ทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน
Complex Problem Solving: แม้ว่าเทคโนโลยีจะถูกพัฒนาขึ้นมาจนก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม แต่ในการทำธุรกิจ หรือในชีวิตจริงของผู้คนเทคโนโลยีเหล่านั้น ก็ยังไม่สามารถ เข้ามาแก้ไขปัญหา ได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้น การมองภาพรวมอย่างเป็นระบบ จึงสำคัญมาก ซึ่งทักษะการแก้ไขปัญหา ที่มีความซับซ้อน จะช่วยให้เราสามารถมีความคิดอย่างมีระบบ สามารถเชื่อมโยงความเป็นเหตุเป็นผล และสามารถวิเคราะห์ปัจจัย ที่ส่งผลกระทบต่อกันได้ ทำให้เราสามารถรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ และมีการตัดสินใจ ประเมินทางเลือกที่จะแก้ไขปัญหานั้น อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากมองภาพใหญ่ของปัญหา
- สร้างความคิดเชิงระบบ ตั้งคำถามเพื่อระบุปัญหาให้ชัดเจน
- รวบรวมข้อมูล เพื่อหาความเชื่อมโยงของปัญหาว่ าปัจจัยใดเป็นสาเหตุได้บ้าง
- จัดลำดับความรุนแรงของปัจจัย ที่ส่งผลกระทบ
- คิดวิธีแก้ปัญหา หรือวิธีการที่พาเราไปสู่ผลลัพธ์ ที่เราต้องการ
- ประเมินสถานการณ์ และความเป็นไปได้ของทางเลือก
ทักษะการใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา
Curiosity and Lifelong Learning: ทักษะการใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา จะช่วยให้เราสามารถปรับตัวพัฒนา และพอกพูนความรู้ใหม่ ๆ ใส่ตัวอยู่เสมอ แม้โลกจะหมุนไปแบบไหน ก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงตัวเอง และอยู่รอดกับมันได้
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการใฝ่เรียนรู้ตลอดเวลา ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากตั้งเป้าหมายใหญ่ ที่เราต้องการจะพัฒนา หรือเรียนรู้
- หาวิธีการไปสู่เป้าหมายนั้นว่า จำเป็นต้องมีความรู้แบบไหนบ้าง
- ค้นคว้าเพิ่มเติม ติดตามความรู้ใหม่ ๆ ในสายงานของเรา หรือในสิ่งที่เราให้ความสนใจตลอดเวลา
- ลงมือทำอย่างสม่ำเสมอจนเป็นนิสัย
ทักษะการโน้มน้าวและต่อรอง
Negotiation and Persuasion: ทักษะนี้ไม่ได้จำกันว่าต้องทำงานขาย หรืองานบริการเท่านั้น ทั้งในชีวิตประจำวัน เช่น การขอความช่วยเหลือ การนำเสนอ การติดต่อประสานงาน การต่อรองสิ่งตอบแทน สิ่งเหล่านี้ก็ยังจำเป็นที่ต้องโน้มน้าวใจอีกฝ่ายเสมอ
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการโน้มน้าวและต่อรอง ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากฟังประเด็น และความต้องการของอีกฝ่าย
- ทำความเข้าใจข้อเสนอ หรือข้อเรียกร้องนั้น พร้อมคิดวิธีการตอบกลับ
- เริ่มนำเหตุผล มาโน้มน้าวความคิดของคู่สนทนา
- สร้างบุคลิก เพื่อเสริมความมั่นใจ เช่น การวางตัว ท่าทาง น้ำเสียง และคำพูด
- ลองฝึกจำลองสถานการณ์ เพื่อเตรียมพร้อมวิธีการรับมือ
ทักษะการเป็นผู้นำ
Leadership: นการทำงานการเป็นผู้นำที่ดีนั้นจะช่วยดึงศักยภาพของผู้ตาม ไม่ใช่แค่คนที่อยู่ในระดับหัวหน้าเท่านั้นที่ต้องมีทักษะการเป็นผู้นำ แต่เราก็สามารถเป็นผู้นำในสภาพแวดล้อมต่าง ๆ หรือกลุ่มสังคมได้ ที่สำคัญผู้นำที่ดีนั้น ควรมีความรับผิดชอบ สามารถสร้างให้ผู้ตามเกิดความร่วมมือไปทิศทางความคิดไปในทางเดียวกันกับเป้าหมาย มีความยุติธรรม และเปิดใจรับฟังความคิดเห็น
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการเป็นผู้นำ ควรทำอย่างไรบ้าง?
- เริ่มจากมีเป้าหมายที่กว้างไกล
- สร้างความไว้วางใจกับผู้อื่น
- ชักนำให้เกิดความร่วมมือกัน ดึงจุดเด่นของผู้ตามออกมา
- มีสติและการควบคุมการกระทำ เพื่อพร้อมที่รับมือกับความกดดัน
- กล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม
ทักษะการมีทัศนคติเชิงบวก
Positive Attitude: การมีมุมมองหรือทัศนคติเชิงบวกนั้น จะช่วยให้เราสามารถปรับมุมมองความคิดไม่ให้จมปลักอยู่กับความทุกข์นั้น มองว่าอุปสรรคเป็นเพียงบทเรียนชีวิต ไม่ว่าเรื่องงานหรือเรื่องส่วนตัว รวมถึงช่วยเป็นพลังให้กับตัวเราและคนรอบข้าง ช่วยคลายความกังวล พร้อมกล้าที่ออกจะไปหาโอกาสและการเรียนรู้ใหม่ ๆ มีความสุขไปกับมัน
อยากเริ่มต้นสร้างทักษะการมีทัศนคติเชิงบวก ควรทำอย่างไรบ้าง?
- ลองปรับเปลี่ยนมุมมอง มองหาข้อดีของอุปสรรคนั้น และนำไปเป็นบทเรียน
- มองการกระทำให้รอบด้าน ก่อนจะลงมือ
- กล้าที่จะลองมือ หากเกิดความผิดพลาดมองว่าเป็นการเรียนรู้ และหาวิธีแก้ไข เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำสอง
- เลือกที่จะเอาตัวเองไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเชิงบวก
- บันทึกสิ่งที่มีความสุขของแต่ละวัน และเมื่อวันไหนเราเจอเรื่องทุกข์ใจ ให้ย้อนกลับไปอ่าน จะช่วยสร้างพลังบวกกลับมาให้เราได้
- ฝึกพูดให้กำลังใจตัวเอง ให้ของขวัญขอบคุณตอบแทนตัวเอง ที่ข้ามผ่านมาได้
- ให้คุณค่ากับตัวเอง พร้อมหมั่นเรียนรู้และพัฒนา
Hard Skill กับ Soft Skill ต่างกันอย่างไร?
Hard Skills – เป็นทักษะทางวิชาชีพ ที่ใช้เฉพาะกับงานด้านนั้น ๆ เช่น นักบัญชี ต้องมีทักษะความรู้ในด้านการทำบัญชี ในขณะที่ทักษะการทำบัญชี อาจไม่ใช่ความรู้ที่จำเป็น สำหรับการทำงานในแผนกอื่น ๆ
การวัดผล: Hard Skill เป็นทักษะที่วัดผลได้ง่าย สามารถระบุออกมาเป็นคะแนน หรือระดับของความรู้ความสามารถได้
Soft Skills – เป็นทักษะที่เป็นคุณสมบัติภายในที่ดี ของมนุษย์เป็นหลัก ทำให้มีความสามารถ ที่จะทำงานร่วมกับคนอื่นในสังคมได้อย่างราบรื่น เมื่อมีทักษะเหล่านี้แล้ว บุคคลนั้น ๆ จะสามารถนำทักษะที่มี ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้างขวางในหลากหลายสาขาอาชีพได้
การวัดผล: Soft Skill เป็นทักษะที่วัดผลได้ยากกว่า มีความเป็นนามธรรมสูง เพราะเป็นทักษะที่เกิดจากคุณสมบัติภายใน ทักษะด้าน Soft Skill หลายอย่าง จึงไม่สามารถออกใบรับรอง หรือใบวัดผลความรู้ ออกมาได้ชัดเจนเป็นตัวเลขแบบ KPI
สรุปได้ว่า Hard skills สามารถวัดผลออกมาได้เป็นตัวเลขเชิงสถิติ ได้ชัดเจน แตกต่างจาก Soft Skills ที่วัดผลเป็นตัวเลขได้ยากกว่า ไม่มีใบรับรอง หรือใบวัดผลความรู้ หรือเกรดที่ระบุออกมาได้ชัดเจนนั่นเอง
ทำไมต้องมี Soft Skill?
- คนที่มี Hard Skill แต่ขาด Soft Skill ยากที่จะประสบความสำเร็จในการทำงาน
หากเราเป็นคนหนึ่ง ที่อยากจะประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เราจะพบว่า งานที่เราทำโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันนั้น การมีความชำนาญแค่ทักษะทางวิชาชีพอย่างเดียว อาจจะไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ทุกอาชีพ จำเป็นที่จะต้องมีทักษะ Soft skill เข้ามาเป็นส่วนสำคัญ เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ
- Soft Skill จะช่วยเพิ่มมูลค่าของคุณ ในตำแหน่งงานที่คุณทำอยู่
งานในอนาคต เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ด้วยเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีการใช้ระบบ AI, Robot และ Application ต่าง ๆ เข้ามาช่วยในการดำเนินธุรกิจมากยิ่งขึ้น องค์กรต่าง ๆ ได้มีการเริ่มปรับโครงสร้างของการว่าจ้างพนักงาน โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเสริมเพิ่มขึ้น และลดรายจ่ายในส่วนของการจ้างพนักงานลง องค์กรต่าง ๆ มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับบุคลาก รที่มีคุณภาพในการทำงานร่วมกับผู้อื่น และสรรหาพนักงานที่มี Soft Skills ที่ดีเข้ามาในองค์กรมากยิ่งขึ้น
- หุ่นยนต์ยังไม่สามารถทดแทนงานที่ต้องใช้ Soft Skill ของมนุษย์ได้
ขณะที่โลกมีความก้าวหน้าทางปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (artificial intelligence) หุ่นยนต์ และเครื่องจักร ได้เข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานต่าง ๆ ทั้งในระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรม ที่มีการใช้หุ่นยนต์ ที่ถูกโปรแกรมไว้มาทำงานแทนที่ แต่ก็ยังมีงานอีกจำนวนมาก ที่ AI ยังไม่สามารถทำหน้าที่แทนมนุษย์ได้ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในปัจจุบันยังไม่สามารถที่จะพัฒนาในส่วนของอารมณ์ความรู้สึกได้แบบมนุษย์ได้ ดังนั้น คนที่มี Soft Skill จึงกลายเป็นที่ต้องการมากขึ้นในตลาดแรงงาน เพราะเป็นผู้ที่มีทักษะสำคัญ ที่หุ่นยนต์ ไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้
- วิถีการทำงานสมัยใหม่ เน้นการติดต่อสื่อสารที่ดีในการทำงานร่วมกัน
เราจะพบว่าวิถีการทำงานสมัยใหม่ จะเป็นรูปแบบที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายในองค์กรสามารถประสานงาน และทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีการเปิดกว้างให้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายได้อย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ จะเป็นไปได้อย่างราบรื่นก็ต่อเมื่อบุคลากรในองค์กรจะต้องมีทักษะต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อปฏิสัมพันธ์กันกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี ดังนั้น บุคลากรที่สามารถพัฒนาตนเอง จนมีทักษะแบบ Soft Skill ได้ ก็จะกลายเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารทำงานร่วมกันในองค์กร และจะมีความสำคัญ ต่อความสำเร็จตามเป้าหมายขององค์กรในโลกอนาคตได้
- ลูกค้ามีความคาดหวังต่อการบริการที่ดีขึ้น
ทุกวันนี้ ลูกค้ามีทางเลือกในการตัดสินใจซื้อสินค้า และบริการ ผ่านช่องทางการติดต่อที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารที่ถูกพัฒนามากขึ้น การตลาดสมัยใหม่ จึงถูกนำมาใช้ในช่องทางต่าง ๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน และแอพพลิเคชั่นเป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากพนักงาน หรือบุคลากรในองค์กรมีทักษะ และความสามารถด้าน Soft Skills เช่น การรับฟังความรู้สึก และความต้องการของลูกค้า, การสื่อสาร และการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเหมาะสมก็ถือเป็นสิ่งที่ดี
- บริษัท หรือองค์กรต่าง ๆ ต้องการคนทำงานที่มีทักษะทั้ง Hard Skill และ Soft Skill
องค์กรชั้นนำต่าง ๆ ในโลกนี้รู้ดีว่า ผู้ที่จะสามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างยั่งยืนได้ จะต้องเป็นบุคคลที่มีความสามารถในการทำงานร่วมกับคนอื่น (Collaboration) ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมกันภายในทีมของตัวเอง หรือแม้กระทั่งการประสานงาน และส่งมอบการทำงานข้ามสายงานของตน (Cross-Functional) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น บุคลากรที่มีทักษะทั้งด้าน Hard Skill และ Soft Skill จะมีโอกาสเติบโตขึ้นไปเป็นหัวหน้า หรือผู้บริหารที่เก่งทั้งงาน และเก่งทั้งคนได้เป็นอย่างดี และจะเป็นบุคลากรที่องค์กรต่าง ๆ ต้องการตัวมาร่วมงานด้วยมากที่สุด
เป็นอย่างไรกันบ้าง คงทำให้หลาย ๆ คนรู้จักกับ Soft skill คือ อะไร? กันมากขึ้นแล้ว เรียกได้ว่า Soft skill จะอยู่ติดตัวเราต่อไป ไม่แม้ว่าในอนาคตเราจะเปลี่ยนสายอาชีพก็ตาม ที่สำคัญเลย Soft skills เหล่านี้ จะมาจากเราลงมือด้วยตัวเองเท่านั้น อาจจะมาจากการขัดเกลาจากสภาพแวดล้อมที่เราเติบโต และจากบุคคลรอบข้าง ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้ดีด้วย
สามารถอ่านบทความดี ๆ ที่น่าสนใจ ได้ที่นี่
109menu.com ศูนย์รวมป้ายโฆษณา หลากหลายประเภท กับการบริการที่หลากหลาย ด้านการตลาด และโฆษณา “บริการครบ จบในที่เดียว” สามารถสอบถาม และสั่งซื้อได้ที่ www.109menu.com
อ้างอิงข้อมูลจาก: thegrowthmaster.com, palagrit.com