270323-Content-แชร์ขั้นตอน-ทำบุญบริษัท

แชร์ขั้นตอน ทำบุญบริษัท บอกหมดเปลือก ทำแล้วปังแน่นอน

อ่านเมื่อ: 2 นาทีที่แล้ว

การทำบุญถือเป็นสิ่งที่อยู่คู่คนไทยกันมาอยู่แล้ว ไม่ว่าจะทำบุญตักบตร ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ สำหรับใครที่กำลังจะเปิดกิจการใหม่ หรือจะทำบุญ เสริมความสิริมงคลต่าง ๆ ในบทความนี้ เราได้รวบรวม ขั้นตอนการ ทำบุญบริษัท มาฝากกัน บอกเลยว่า สายบุญทั้งหลาย ต้องรีบจดไว้ ทำแล้วเสริมความปังอย่างแน่นอน

ขั้นตอนการ ทำบุญบริษัท มีอะไรบ้าง?

1) กำหนดวันเวลา
เมื่อจะทำบุญบริษัท ทำบุญเปิดกิจการ การหาวันที่และเวลา ที่ทั้งสะดวกต่อผู้ร่วมงาน และเป็นมงคลด้วยในเวลาเดียวกัน คือ วันเวลาที่เหมาะสม และวันและเวลาในฤกษ์มงคล

วันเวลาที่เหมาะสม นอกจากความสะดวกของผู้ร่วมงานแล้ว อีกสิ่งที่ควรใส่ใจไม่แพ้กัน คือ ความสะดวกของคณะสงฆ์ เนื่องจากพระมีเวลาฉันอาหารเพียงสองมื้อ คือ จังหัน หรือฉันเช้า เวลา 7.00 – 8.00 น. และฉันเพล เวลา 11.00 – 12.00 น. ควรเผื่อเวลาเริ่มพิธีให้พอดีกับเวลาที่คณะสงฆ์ต้องฉันอาหาร เช่น หากนิมนต์มาฉันเพล พิธีควรเริ่มไม่ช้ากว่า 10.30 น.

วันและเวลาในฤกษ์มงคล “ฤกษ์” นับเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ อาจยึดตามหลักง่าย ๆ ว่าวันที่ทำดี คือ วันฤกษ์ดี หากใครศรัทธาในเรื่องนี้มาก ๆ ก็สามารถยึดวันและเวลาที่อยู่ใน “ฤกษ์บน” ซึ่งเป็นฤกษ์มงคลในไทยได้ โดยมีทั้งหมด 9 ฤกษ์ และจะมี 6 ฤกษ์ที่เหมาะกับงานทำบุญบริษัทประจำปี และทำบุญเปิดกิจการใหม่เป็นพิเศษ ดังนี้

  • ทลิทโทฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะกับการเริ่มต้นใหม่ และขอสิ่งใดก็จะได้ง่าย จึงเหมาะกับใช้เป็นฤกษ์เปิดกิจการ โดยเฉพาะการเปิดร้านประเภทร้านขายของชำ และขายของเก่า
  • มหัทธโณฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะกับกิจการที่ต้องการความมั่นคงถาวร เช่น ปลูกสร้างอาคาร เปิดร้าน และเปิดบริษัทใหม่
  • ภูมิปาโลฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะกับกิจการที่ต้องการให้มีความมั่นคงระยะยาว เช่น งานเกี่ยวกับที่ดิน การเปิดอาคาร เปิดห้างร้าน และการเช่าซื้อ
  • เทศาตรีฤกษ์ เป็นฤกษ์ที่เหมาะกับกิจการเกี่ยวกับการเดินทาง การติดต่อการค้าระหว่างสถานที่ การท่องเที่ยว และความรื่นเริง เช่น ธุรกิจประเภทโรงแรม ห้างสรรพสินค้า ภัตตาคาร หรือสถานบันเทิง  
  • ราชาฤกษ์ ฤกษ์ที่สมพงษ์กับผู้ใหญ่และเจ้านาย เหมาะสำหรับงานราชการ งานที่ต้องชักจูงคนมารับตำแหน่ง เป็นอีกฤกษ์ที่เหมาะสมกับทั้งการทำบุญเปิดกิจการใหม่ และการทำบุญประจำปี ที่ต้องเชิญผู้มีอำนาจในองค์กรมาร่วมด้วย
  • สมโณฤกษ์ เหมาะกับการทำพิธีกรรมทางศาสนา เช่น ทำบุญประจำปีบริษัท

2) การนิมนต์พระ
การนิมนต์พระมาทำบุญบริษัท ควรมีตัวเลือกวันเวลามากกว่า 1 ตัวเลือก เพราะคณะสงฆ์อาจติดกิจนิมนต์อื่น แนะนำให้เลือกวัดใกล้สถานที่ทำงาน เพื่อให้พระสงฆ์เดินทางสะดวก และที่สำคัญควรแจ้งข้อมูลสำคัญ ได้แก่ ประสงค์ทำพิธีอะไร วัน เวลาใด และวิธีการเดินทางของคณะสงฆ์ให้ทราบด้วย เช่น เจ้าภาพจะส่งรถไปรับหรือไม่ ทั้งนี้ จำนวนพระสงฆ์ที่นิมนต์จะเป็นเลขคี่ เช่น 5 รูป 7 รูป และ 9 รูป ส่วนใหญ่นิมนต์พระจำนวน 9 รูปมากที่สุด เพราะถือว่าเลข 9 เป็นเลขมงคล แสดงถึงความก้าวหน้านั่นเอง 

3) เตรียมวางแผนอาหาร
อาหารในงานทำบุญบริษัท ควรจัดการเรื่องปริมาณ และสัดส่วนให้เพียงพอ สามารถแบ่งอาหารเป็น 4 ส่วน ได้แก่ อาหารสำหรับพระพุทธ อาหารสำหรับพระสงฆ์ อาหารสำหรับศาลพระภูมิเจ้าที่ และอาหารสำหรับแขก

3.1) อาหารสำหรับพระพุทธ คือ อาหารที่จัดใส่ภาชนะขนาดเล็ก สำหรับถวายพระพุทธเจ้า นิยมจัดข้าว 1 ที่  กับข้าว 2-3 อย่าง ขนมหวาน และน้ำเปล่า วางไว้เบื้องหน้าพระบูชา โดยของที่ไม่ถวายพระ ตามพระวินัย ก็จะไม่ถวายพระพุทธเช่นกัน ดังนั้น ห้ามถวายสุราในสำรับเป็นอันขาด

3.2) อาหารสำหรับพระสงฆ์ ดูจำนวนพระสงฆ์ที่มาร่วมพิธี และดูว่าพระสงฆ์นั้นควรฉันลักษณะใด โดยปกติพระสงฆ์จะฉันอยู่ 2 แบบ ได้แก่ ฉันแบบวง และฉันแบบขันโตก

  • ฉันแบบวง คือ พระสงฆ์นั่งล้อมวง โดยมีสำรับอาหารอยู่ตรงกลาง และฉันรวมกัน อาจเป็นบนที่นั่ง หรือเป็นโต๊ะจีนก็ได้ 
  • ฉันแบบขันโตก หรือเรียกว่า ฉันโตก คือ การนำอาหารใส่ในสำรับภาชนะที่เรียกว่าโตก แล้วฆราวาสประเคน 1 โตก ต่อพระ 1 รูป การฉันแบบนี้ควรจัดพื้นที่สำหรับวางโตกเบื้องหน้าสงฆ์ไว้ล่วงหน้า 

3.3) อาหารสำหรับศาลพระภูมิเจ้าที่ สำหรับบริษัทที่มีศาลพระภูมิเจ้าที่ หรือผู้ที่เปิดกิจการใหม่ ควรจัดสำรับอาหารสำหรับศาลพระภูมิเจ้าที่แยกไว้อีกชุดด้วย โดยสามารถใช้เป็นอาหารชุดเดียวกับที่เลี้ยงพระ และเลี้ยงแขกได้ 

3.4) อาหารสำหรับแขก อาหารสำหรับแขกที่มาร่วมงานนิยมใช้เป็นเมนูแบบเดียวกันกับที่เลี้ยงพระ สามารถจัดเป็นโต๊ะจีนสำหรับให้แขกนั่งทาน เป็นซุ้มสำหรับเดินหยิบเอง หรือจะเป็นบุฟเฟต์ก็ได้ตามสะดวก และตามเหมาะสมกับจำนวนแขกที่มาร่วมงาน

4) การเตรียมอุปกรณ์ และสถานที่
การเตรียมสถานที่ การจัดการสถานที่ให้สะอาด เป็นระเบียบ ถือว่ามีความสำคัญมาก ๆ หากสถานที่ไม่สะอาด จะทำให้พลังงานมีความหม่นหมอง กระทบกับความเป็นสิริมงคลได้ และควรจัดสรรพื้นที่สำหรับวางโต๊ะหมู่บูชา และพิ้นที่สำหรับให้พระนั่งทำพิธี โดยไม่ให้มีของอยู่เหนือโต๊ะหมูบูชา หรือเหนือศีรษะพระสงฆ์ รวมถึง ไม่ควรมีภาพ ของตกแต่งใด ๆ แขวนอยู่ข้างบนด้วย และในส่วนพื้นที่รับแขก ก็ไม่ควรอยู่สูงกว่าพระเช่นกัน

ของพื้นฐานที่ควรเตรียม ได้แก่

  • ชุดโต๊ะหมู่บูชา พร้อมพระประธาน แจกันดอกไม้  กระถางธูป เชิงเทียน ธูป และเทียน  
  • ภาชนะสำหรับใส่สำรับอาหารพระพุทธ และศาลพระภูมิเจ้าที่ 
  • อาสนะพระ พร้อมด้วยพรม หรือเสื่อปูรอง
  • ของใช้พระสงฆ์ เช่น กระโถนพระสงฆ์ ตาลปัตร กระดาษชำระ น้ำดื่ม
  • เครื่องไทยธรรม และชุดสังฆทาน
  • ชุดกรวดน้ำ สำหรับให้ผู้ร่วมงานกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศล
  • อุปกรณ์เพื่อการเจิม และการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ เช่น ขันน้ำมนต์ ดินสอพอง น้ำอบ และทองคำเปลว

การจัดโต๊ะหมู่บูชา วิธีการวางให้วางพระพุทธรูปพระพุทธเจ้าอยู่ชั้นสูงสุด และจัดลำดับองค์พระอื่น ๆ ตามบารมี เช่น จัดพระสารีบุตรอยู่สูงกว่าพระอริยสงฆ์ และจัดพานดอกไม้ และเชิงเทียนให้อยู่ต่ำกว่าพระพุทธรูปต่าง ๆ ทิศที่วางโต๊ะหมู่บูชามีหลากหลาย แล้วแต่ตำราความเชื่อ เช่น ตั้งในทิศมงคลของเจ้าของงาน ตั้งในทิศเหนือ หรือตะวันออกของบ้าน ไม่ควรตั้งอยู่หน้าห้องน้ำ ใต้บันได หรือตั้งในมุมอับ

5) จัดการพิธีสงฆ์
ขั้นตอนสุดท้ายใน พิธีทำบุญบริษัท ประจำปี คือ การจัดการพิธีสงฆ์ตามลำดับให้เรียบร้อย ดังนี้ 

  • เมื่อคณะสงฆ์มาถึง กล่าวนมัสการ นิมนต์นั่งในสถานที่ที่จัดไว้ และถวายน้ำ
  • เมื่อถึงเวลามงคล ให้เริ่มพิธีโดยจุดธูปเทียนบูชาที่โต๊ะหมู่บูชา โดยจุดเทียนก่อนธูป และเริ่มจุดจากด้านขวาพระพุทธรูป แล้ววนไปทางซ้าย จากนั้นกราบพระพุทธในท่าเบญจางคประดิษฐ์ กล่าวบูชาพระรัตนตรัย และอาราธนาศีลตามลำดับ เมื่อไหว้พระพุทธเสร็จแล้วจึงนิมนต์ให้พระสงฆ์สวดมนต์โดยใช้บทอาราธนาปริตร 
  • เมื่อพระสงฆ์สวดถึง “อเสวนา จ พา ลานัง” ให้เจ้าภาพถวายข้าวพระพุทธ
  • เมื่อพระสงฆ์เจริญพระพุทธมนต์เรียบร้อยแล้วจึงถวายภัตตาหาร โดยใช้มือขวาจับก่อน และประเคนห่าง 1 ศอกยก เมื่อประเคนแล้วควรระวังไม่ให้สัมผัสโดนภัตตาหารอีก หากเผลอสัมผัสโดน ควรยกประเคนใหม่อีกครั้ง
  • เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ ให้เก็บสำรับ จากนั้นเจ้าภาพถวายเครื่องไทยธรรมและสังฆทาน ในขั้นตอนนี้ไม่ควรถวายเงินใส่ซอง เพราะผิดวินัย หากต้องการถวายเงินแก่พระสงฆ์ควรถวายเป็นใบปวารณา แล้วนำเงินไปมอบกับไวยาวัจกรแทน 
  • ลาข้าวพระพุทธ พระสงฆ์อนุโมทนา จากนั้น ผู้ร่วมงานจึงกรวดน้ำ และรับพร
  • พระสงฆ์ประพรมน้ำพระพุทธมนต์ 
  • เจ้าภาพนิมนต์พระสงฆ์เจิมสถานที่ หากต้องการ
  • ส่งพระสงฆ์กลับวัดหลังจบพิธี
270323-Content-แชร์ขั้นตอน-ทำบุญบริษัท02

สิ่งที่ควรรู้ในการทำบุญบริษัท

  • นิมนต์พระไม่ควรบอกชื่ออาหาร เพราะการบอกชื่ออาหารนั้น จะผิดวินัยสงฆ์ ทำให้พระไม่สามารถรับนิมนต์ได้ หรืออาจอาบัติในภายหลัง
  • แขกควรรับประทานอาหารหลังพระฉัน แขกที่มาร่วมทำบุญบริษัทควรเริ่มรับประทานอาหารหลังจากที่เก็บสำรับที่พระสงฆ์ฉันเสร็จ และหลังจากลาข้าวพระพุทธเรียบร้อยแล้ว ไม่ควรรับประทานพร้อมกับพระสงฆ์ หรือก่อนพระสงฆ์

เคล็ดลับเสริมความปัง การทำบุญเปิดกิจการใหม่

สำหรับใคร ที่กำลังจะเปิดกิจการใหม่ สามารถทำได้เพื่อเสริมโชค โดยความเชื่อในส่วนนี้ มักจะผสมผสานกับความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ยด้วย ดังนี้

1. ให้ผู้ใหญ่ที่เคารพเป็นเจ้าภาพดำเนินพิธีต่าง ๆ ไม่ว่าจะทำบุญเปิดร้านใหม่ เลี้ยงพระ ไหว้ศาล ควรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือเป็นเจ้าภาพดำเนินพิธี เพื่อเสริมสิริมงคลให้กับการเริ่มต้นใหม่

2. ไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใกล้ ๆ ร้าน การเปิดร้านเป็นการมาขอใช้สถานที่ หากมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ใกล้ร้านควรเข้าไปกราบไหว้ เพื่อเป็นการสักการะเจ้าของที่ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์คุ้มครอง และนำความเจริญมาให้

3. ไหว้เจ้าที่ด้วยของมงคล ไหว้เจ้าที่ด้วยของมงคล ได้แก่ เทียน 1 คู่ ธูป 5 ดอก น้ำชา 5 แก้ว พวงมาลัยดาวเรือง หรือดอกดาวเรือง อาหารคาวหวาน ผลไม้ที่มีชื่อเป็นมงคล 9 ชนิด หรือ ผลไม้ 5 อย่าง เพื่อให้ครบทั้ง 5 ธาตุ ได้แก่ ดิน น้ำ ไฟ ไม้ และทอง

4. ทำพิธีล้างปรับสภาพ สำหรับคนที่มีความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน สามารถทำพิธีล้างปรับสภาพ คือ พิธีล้างพลังงานออกจากสถานที่ที่เคยมีคนอยู่มาก่อน โดยขั้นตอนคร่าว ๆ คือ เริ่มจากการดูฤกษ์ทำพิธี ทำความสะอาดสถานที่ โรยเกลือสมุทรพร้อมเหรียญแปดเหลี่ยมในบริเวณอาคาร จากนั้น ออกจากอาคาร เพื่อรอฤกษ์เก็บกวาด เมื่อถึงฤกษ์เก็บกวาด จึงเข้ามาเก็บกวาดของใส่ผ้าขาว ห่อให้มิดชิด และนำไปทิ้งที่ห่างไกล
** คนที่จะทำพิธีนี้ ควรศึกษารายละเอียดอย่างระมัดระวัง และสตรีมีครรภ์ ไม่ควรร่วมพิธีโดยเด็ดขาด **

5. ดับไฟ และออกนอกอาคารก่อนได้ฤกษ์ ก่อนจะถึงเวลาที่เป็นฤกษ์ดีให้ดับไฟในอาคาร และนอกอาคาร รวมถึงให้ทุกคนออกจากอาคาร มารออยู่หน้าอาคารแทน พอได้ฤกษ์แล้ว ค่อยเดินเข้าไปจัดตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 

6. เอาของมงคลเข้าร้าน การนำของมงคล เช่น ข้าวสาร ขนมชื่อมงคล เงินจำนวน 999 บาทเข้าร้านเป็นอันดับแรก ๆ เป็นอีกเคล็ดที่นิยมทำกัน โดยเชื่อกันว่า ของมงคล จะเป็นเหมือนจุดเริ่มต้นที่ดี ทำให้กิจการมีแต่สิริมงคล

7. ใส่ชุดใหม่ เคล็ดลับดี ๆ และทำง่ายมาก ๆ คือ การใส่ชุดใหม่ไปในวันทำบุญเปิดร้านใหม่ เพื่อเป็นการเปิดรับโอกาสใหม่ ๆ อีกทาง

8. อย่าแจกของฟรีให้แขก ใครที่เปิดกิจการใหม่ ก็คงอยากแจกของเป็นที่ระลึกให้กับผู้มาร่วมงาน โดยเฉพาะของที่เป็นสินค้าของร้านเอง โดยมีการถือเคล็ดกันว่า วันเปิดร้านนั้น อย่าเพิ่งแจกของฟรี แต่ให้แจกเป็นคูปอง สำหรับมาแลกของในวันอื่น ๆ แทน


จบไปแล้ว ขั้นตอน ทำบุญบริษัท และทำบุญเปิดร้านใหม่ บอกเลยว่า ทำตามนี้ เสริมโชคลาภ ทำแล้วปังแน่นอน หวังว่าในบทความนี้ จะให้ความรู้แก่ผู้อ่านไม่มากก็น้อยนะจ๊ะ

บทความดี ๆ น่าอ่าน:

109menu.com ศูนย์รวมป้ายโฆษณา หลากหลายประเภท กับการบริการที่หลากหลาย ด้านการตลาด และโฆษณา “บริการครบ จบในที่เดียว” สามารถสอบถาม และสั่งซื้อได้ที่ www.109menu.com

อ้างอิงข้อมูลจาก cwtower.com